Pregnancy & Radiation
  • 21 ธันวาคม 2016 at 10:44
  • 1989
  • 0

Pregnancy & Radiation

คุณแม่ตั้งครรภ์กับรังสีที่พบในชีวิตประจำวัน

ถึงแม้ว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยังคงไม่เป็นที่สรุปถึงอันตรายของรังสีที่พบได้ในชีวิตประจำวัน แต่อย่างไรก็ตาม การสัมผัสกับรังสีถือเป็นความเสี่ยงต่อเด็กเล็ก และพัฒนาการของทารกในครรภ์

เนื่องจากอันตรายที่เกิดจากรังสี ทั้งในช่วงเวลาตั้งครรภ์และในเด็กเล็กนั้น อาจจะต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะเห็นผล

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพและองค์กรของอเมริกาจึงแนะนำให้ใช้ หลักของการป้องกันกับความเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้จนกว่าที่เราจะมีความรู้มากพอถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ดังตัวอย่างของสารพิษต่าง ๆ เช่น บุหรี่ และ แร่ใยหิน (asbestos) ซึ่งใช้เวลาหลายสิบปีกว่าที่นโยบายของภาครัฐ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และความรู้ของผู้บริโภคจะรู้เท่าทันถึงอันตรายของสารเหล่านี้ 

การประเมินความเสี่ยง

อ้างอิงจากการศึกษาและงานวิจัยในห้องปฏิบัติการ สิ่งที่เราทราบแน่ชัดก็คือ

ระดับของรังสีที่ปลดปล่อยออกมาจากโทรศัพท์มือถือ และสัญญาณ Wifi มีผลอย่างนัยสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต ]โดยรังสีดังกล่าวจะไปมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ การเพิ่มจำนวนของสารพันธุกรรม, และการทำงานของเซลล์สมอง

ด้วยเหตุนี้เองผู้เชี่ยวชาญจึงประเมินและเชื่อว่าในเด็กเล็กและระหว่างตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงมากที่สุด  เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เซลล์มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและมีพัฒนาการที่ซับซ้อนที่สุด 

 

ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสุขภาพ

ด้านพัฒนาการ

ดอกเตอร์เฮนรี่ ไล จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้กล่าวในนิตยสาร New York Times ว่า ประมาณ 70% ของงานวิจัยที่ไม่ได้รับการสนับสนุนโดย”อุตสาหกรรมอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย” พบว่ารังสีเหล่านี้มีผลเสียต่อสิ่งมีชีวิต

โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ด้านการเจริญเติบโตของเซลล์, ด้านการเพิ่มจำนวนของสารพันธุกรรม, และด้านการทำงานของระบบประสาทและสมอง

ผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มีตั้งแต่ พบว่าเซลล์มีการเจริญเติบโตช้าลง เซลล์เกิดการบาดเจ็บ และเซลล์เสียความสามารถในการยึดเกาะ (Aldinucci et al. 2003, Buemi et al. 2001, Pacini et al. 1999, Raylman et al. 1997, Linder-Aronson & Lindskog 1995)

ในระดับพันธุกรรม พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงการแสดงออกของยีน (Hirose et al. 2003, Hirai et al. 2002) และเกิดความผิดปกติของการพัฒนาระบบหัวใจและหลอดเลือด (Okazaki et al. 2001)

เนื่องจากผลงานวิจัยส่วนใหญ่ได้ทำในห้องทดลองที่มีการควบคุมสภาวะแวดล้อม จึงเป็นสิ่งที่ยากที่จะบอกได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องทดลองจะเกิดขึ้นกับประชากรส่วนใหญ่หรือไม่ และผลที่เกิดขึ้นอาจต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการเกิด

แต่สิ่งที่น่ากลัวคือปริมาณรังสีที่เราสัมผัสในปัจจุบัน มีมากกว่าเมื่อ 15 ปีก่อนอย่างชัดเจน และสิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งไปกว่านั้นก็คือการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ซึ่งมีผลกับการทำงานของเซลล์และสารพันธุกรรมในช่วงต้นของชีวิต อาจจะมีผลต่อพัฒนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กซึ่งสมองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และร่างกายเด็กสามารถดูดซับรังสีได้ในปริมาณมากกว่าผู้ใหญ่

 

ด้านพฤติกรรม

ในปี 2010 มีการศึกษาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนีย (UCLA) พบว่าในเด็กที่สัมผัสกับโทรศัพท์มือถือเป็นประจำตั้งแต่อยู่ในท้อง และช่วงวัยเด็กเล็ก จะมีปัญหาทางพฤติกรรมเพิ่มมากขึ้นถึง 50% เมื่ออายุ 7 ขวบ ปัญหาทางพฤติกรรมที่พบ ได้แก่ อยู่ไม่นิ่ง (hyperactivity), ไม่มีสมาธิ (attention disorders), และมีปัญหาด้านสังคม ซึ่งมีการศึกษาที่มีผลคล้าย ๆ กันในเด็กเดนมาร์คกว่า 13,000 คน

จากการศึกษาดังกล่าวพบว่าแม่ที่ใช้โทรศัพท์มือถือมาก มีความเสี่ยงที่ลูกจะมีปัญหาด้านพฤติกรรมมากขึ้น กลไกที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่สามารถสรุปได้ แต่มีผู้ให้ทฤษฎีว่า รังสีจากการใช้โทรศัพท์มือถืออาจมีผลต่อการควบคุมการหลั่งของฮอร์โมนซึ่งมีผลต่อการทำการและการพัฒนาของเซลล์สมอง

 

การแท้ง

นักวิจัยพบความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสกับรังสีโดยเฉพาะจากคอมพิวเตอร์และโทรทัศน์ กับการเพิ่มความเสี่ยงในการทำให้เกิดการแท้ง (Lee et al. 2002, Juutilainen et al. 1993, Lindbohm et al. 1992) นอกจากนี้ยังพบว่าระยะห่างจากสายไฟแรงสูงมีความสัมพันธ์กับการเกิดการแท้ง (Li et al. 2001, Robert et al. 1996) ซึ่งในทั้ง 2 กรณีความสัมพันธ์ค่อนข้างมีผลมากในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ องค์กร American Pregnancy Association ได้จัดให้รังสี เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการแท้ง นอกเหนือจาก คาแฟอีน, บุหรี่, และแอลกอฮอล์ และแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับรังสีเพื่อลดความเสี่ยงในการแท้ง


โรคมะเร็ง

มะเร็ง เป็นโรคที่มีการพูดถึงกันมากที่สุดในแง่ของผลจากรังสีที่พบได้ในชีวิตประจำวัน หลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบความสัมพันธ์ระหว่างรังสีที่พบได้ในชีวิตประจำวันกับมะเร็งหลายชนิด ได้แก่ มะเร็งเต้านม, มะเร็งระบบเลือด, และมะเร็งสมอง องค์การอนามัยโลกได้จัดให้รังสีจากโทรศัพท์มือถือมีความเสี่ยงในการทำให้เกิดมะเร็งได้พอ ๆ กับ สารคลอโรฟอร์มและสารตะกั่ว ซึ่งข้อสรุปนี้ได้มาจากการศึกษาถึงผลของการใช้โทรศัพท์มือถือ กับการเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งสมองชนิด glioma

การเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กและมะเร็งของระบบเลือดอื่น ๆ พบว่ามีความสัมพันธ์กับสนามแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ต่ำ เช่น จากสายไฟ โดยสาเหตุที่เกิดขึ้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ความสัมพันธ์ที่พบนั้นถือว่ามีนัยสำคัญทางสถิติที่สูง ในปี 2002 องค์กร International Agency for Research on Cancer (IARC) ได้จัดให้สนามแม่เหล็กไฟฟ้า มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ เนื่องจากการที่พบว่า อัตราการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กเพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่าในผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณที่มีสนามแม่เหล็กไฟฟ้าของสายไฟแรงสูงอยู่