GLOWY นมแม่ EP.2 เข้าใจกลไกการสร้างน้ำนม ไม่มีคำว่านมไม่พอ
  • 28 กรกฎาคม 2017 at 14:44
  • 5750
  • 0

GLOWY นมแม่ EP.2

เข้าใจกลไกการสร้างน้ำนม ไม่มีคำว่านมไม่พอ

สิ่งสำคัญที่มีบทบาทในกระบวนการสร้างน้ำนม คือ

  1.   ฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) ทำหน้าที่จับกับตัวรับที่เซลล์สร้างน้ำนม แล้วกระตุ้นให้เกิดการสร้างน้ำนม
  2.   โปรตีนยับยั้งการสร้างน้ำนม FIL (Feedback Inhibitor of Lactation) ตามชื่อเลยค่ะ ตัวทำให้หยุดสร้างน้ำนม

น้ำนมจะสร้างขึ้นเมื่อ โปรแลคติน ไปจับกับตัวรับบนผิวของเซลล์สร้างน้ำนม (Lactocyte) ซึ่งอยู่ในถุงน้ำนม ก็จะส่งสัญญาณให้เกิดการผลิตน้ำนม เมื่อนมเต็มถุงหรือเต็มเต้า ผนังของถุงน้ำนมจะขยายออก รูปร่างของตัวรับก็จะบิดเบี้ยวไป ทำให้โปรแลคตินเข้าไปจับไม่ได้ หรือจับได้ไม่ดี การสร้างน้ำนมก็จะลดน้อยลง เมื่อนำนมออกจากเต้า ไม่ว่าจะให้ลูกดูดหรือปั๊มออก ถุงน้ำนมกลับสู่สภาพปกติ ตัวรับบนเซลล์สร้างน้ำนมกลับคืนรูปร่างเดิม มีตัวรับที่สามารถจับกับโปรแลคตินได้ดี และได้มากขึ้น ทำให้อัตราการสร้างน้ำนมเพิ่มมากขึ้น และหลักการของตัวรับของโปรแลคตินนี้เอง ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า การที่เรานำนมออกจากเต้าบ่อย ๆ ในช่วงอาทิตย์แรก ๆ หลังคลอด จะช่วยเพิ่มจำนวนตัวรับโปรแลคติน ซึ่งตัวรับที่เพิ่มขึ้นนั้นหมายความว่าโปรแลคตินก็จะมาจับกับเซลล์สร้างน้ำนมได้มากขึ้น และความสามารถในการสร้างน้ำนมก็จะมากขึ้นด้วย

 

นอกจากนี้ในน้ำนมมีโปรตีนที่ชื่อว่า FIL (Feedback Inhibitor of Lactation) ซึ่งหน้าที่ของ FIL ก็คือทำให้กระบวนการสร้างน้ำนมช้าลงเมื่อนมเต็มเต้า ดังนั้นร่างกายจะสร้างน้ำนมได้น้อยลงเมื่อมีนมอยู่ในเต้า (เพราะมีนมเยอะ ก็มี FIL เยอะ) และจะสร้างน้ำนมได้เร็วขึ้นเมื่อมีน้ำนมอยู่ในเต้าน้อย เพราะจะมี FIL อยู่น้อยตามไปด้วย

สรุปง่าย ๆ ก็คือ จากปัจจัยทั้ง 2 อย่างนั้น เมื่อน้ำนมเต็มเต้า กระบวนการสร้างน้ำนมจะช้าลง เมื่อนมเกลี้ยงเต้า กระบวนการสร้างน้ำนมจะเร็วขึ้น

แล้วจะทำยังไงให้มีน้ำนมมากขึ้น ?

จากหลักการที่ว่านมเกลี้ยงเต้า = สร้างน้ำนมได้เร็วขึ้น”  คุณแม่ที่อยากจะมีน้ำนมเพิ่มมากขึ้นจะต้องทำให้เต้านมมีน้ำนมค้างอยู่น้อยที่สุดตลอดทั้งวัน โดย

  1.   นำนมออกจากเต้าให้บ่อยที่สุด (โดยการให้นมลูกบ่อยขึ้น และ/หรือ เพิ่มการปั๊มนมระหว่างมื้อนม)
  2.     นำนมออกจากเต้าให้เกลี้ยงเต้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในทุกๆการให้นมหรือปั๊มนม

ซึ่งการจะทำให้นมเกลี้ยงเต้ามากที่สุดทำได้โดย

  •    ต้องแน่ใจว่าลูกดูดนมอย่างมีประสิทธิภาพ
  •   นวดเต้านมและประคบอุ่นก่อนให้นม หรือ ปั๊มนม
  •   ให้ลูกดูดนมทั้ง 2 ข้างเมื่อให้นมแต่ละครั้ง โดยเริ่มให้ทีละข้างและให้ดูดจนหมดก่อนที่จะเปลี่ยนข้าง
  •   ปั๊มนมหลังจากลูกดูดเสร็จถ้าหากลูกยังดูดไม่เกลี้ยงเต้า แต่ถ้าลูกดูดเกลี้ยงเต้าดีแล้ว การปั๊มนมจะมีประโยชน์มากกว่าเมื่อปั๊มระหว่างมื้อนม (ตามหลักการที่ว่าต้องทำให้นมเกลี้ยงเต้าอยู่ตลอดเวลาเท่าที่จะทำได้)

 

GLOWY นมแม่ EP.1 มาเข้าใจกลไกการสร้างและการหลั่งน้ำนมกันก่อน

GLOWY นมแม่ EP.2 เข้าใจกลไกการสร้างน้ำนม ไม่มีคำว่านมไม่พอ

 

GLOWY นมแม่ EP.3  Q&A เครื่องปั๊มนม

 

GLOWY นมแม่ EP.4 รีวิวการใช้งาน GLOWY ELECTRIC BREAST PUMP